ท่านที่ติดตาม นิตยสาร "รถ" มาสม่ำเสมอจะเหนบททดสอบในฉบับเดือน 15/5-15/6 '38 มีเปอโยต์ 306 รุ่น SR 4 ประตู ซีดาน โดยคุณ รณชิต เฉลิมชาติ บรรณาธิการบริหาร ได้สรุปผลไว้ที่แล้ว ที่จริง 306 XR ก็มีสเปกเหมือนกันผิดกันตรง 4 กับ 5 ประตู และรุ่น 306 SR เป็นรุ่นเกียร์อัตโนมัติ อัตราเร่งที่วัดจึงผิดกับ 306 XR คันนี้มากพอสมควร ก็โปรดเลือกซื้อตามความเหมาะสมในการใช้งาน สำหรับเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ของ XR ให้การตอบสนองตีนต้น-ตีนปลาย 2 สไตล์ คือเริ่มด้วยแรงเพราะอัตราทดเกียร์ 1 มาก 3.45 เฟืองท้าย 4.06 ยางขนาด 175/65 R14 จึงทำให้สามารถทะยานในระดับ 0-100 ชม.ใน 13.7 วินาที ( นั่ง 2 คน น้ำหนักรวมประมาณ 160 กก. ) ที่ 100กม./ชม. ในต้นเกียร์ 3 ความจริงปลายเกียร์ 2 น่าจะไปถึงแต่รอบเครื่องจะเลยช่วงแรงม้าสูงสุดที่ 6,000รอบ/นาที ทำให้เวลาอาจยาวขึ้นเนื่องจาก อีตราทดเกียร์ 2 เท่ากับ 1.85 เกียร์ 3 เท่ากับ 1.28 สามารถวิ่งถึงระดับ 140 กม./ชม.ได้สบาย โดยเฉพาะการขับแบบสปอร์ตตี้ที่ต้องการแซงและติดตีนในทุกท่วงท่าในเกียร์ 3 ตอบสนองความต้องการของคนเท้าหนักได้ดีมาก เมื่อลงเกียร์ 4 ก็จะกลายเป็นโอเวอร์ไดรว์ มีอัตราทด 0.56 และเกียร์ 5 ทดไว้ 0.75 ทั้ง 2 เกียร์มีความแตกต่างกันประมาณ 1,000 รอบ/นาที หากเป็นการเดินทางไกล จะประหยัดน้ำมันได้มาก
เครื่อง XU 7 JP เป็นเครื่องยนต์ที่ตอบสนองการขับขี่สไตล์สปอร์ตตี้ได้ดี เพราะให้พลังสูงสุด 103 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 15.6 กก.ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที พลังหมดเร็วแต่แรงบิดสูงสุดอยู่ในรอบต่ำ จึงทันใจทั้งในย่านรอบปานกลางถึงสูงสุด ชนิดที่เรียกว่าเครื่องทวินแคมอายได้ในบางโอกาส จากการวัดสมรรถนะตามรูปแบบของนิตยสาร "รถ" พบว่าไม่น้อยหน้าใครในระดับเดียวกัน แต่ถ้าไปทาบกับทวินแคม หัวฉีด ระดับ โอเปิล ก็คงคิดหนักหน่อย วันทดสอบวันแรกมี คุณ นพพร สวัสดิ์รักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.บี.ปิโตเลียม ผู้ให้การสนับสนุน การทดสอบด้านน้ำมันเครื่อง SUPER G ( 20 W 50 ) อดีตนักแรลลี่กรุ๊ป C ที่ครั้งหนึ่งเคยไต่ระดับคะแนนนำมาตลอดจนถึงสนามสุดท้ายเกิดคว่ำ เลยอดเป็นแชมป์ประเทศไทย ในเกมแรลลี่กรุ๊ป C ไป เมื่อทดสอบคุณภาพ SUPER G น้ำมันเครื่องจากอเมริกาว่า จะมีมาดเป็นอย่างไรใน 306 XR จึงเปลี่ยนมาลองดู ปรากฏว่าอัดเท่าไหร่ความร้อนก็ไม่เคลื่อนไหวจนน่าเกลียด โดยเฉพาะช่วงขับ 0-1,000-120 กม./ชม. หลายๆเที่ยวอุณหภูมิขึ้นไปไม่ถึง 90 องศา น้อยกว่ารถติดใน กทม. ในวันที่ผมนำรถไปคืนปรากฏว่า 2 ชั่วโมงบนถนนที่การจราจรเกือบหยุดนิ่ง ทำให้ความร้อนขยับขึ้นเลย 90 องศา เล็กน้อย แต่ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อจบการทดสอบ ระดับน้ำมันเครื่องยังคงเดิม ไม่ยุบหายไปไหน
เส้นทางทดสอบ เริ่มจากสวนสยาม 9 โมงเช้า วันอาทิตย์ที่ 8 ก.ค.2538 ผมขับรถไปรับคุณ นพพร กับ คุณ ธนิต พันธนิยะ นักเขียนพิเศษของเราอีกท่านหนึ่ง มุ่งสู่ ฉะเชิงเทรา ไปสนามชัยเขตและก็พัทยา เพื่อพบคุณ อุกฤษฎ์ ผิวเกลี้ยง เย็นวันนั้น คุณ อุกฤษฎ์ ลองขับในเมืองพัทยาดู สรุปสั้นๆว่าเกาะถนน เกียร์ 1-2 ยาวไปหน่อย พอถึง 3 ดีขึ้น แต่รวมๆแล้วสะใจ แม้จะเป็นการทดลองช่วงสั้นๆ คุณ อุกฤษฎ์ ก็บอกว่า ถ้าราคาไม่ถึง 6 แสน จะเป็นรถที่ขายดีมาก! จากระยะทางกว่า 200 กม. บนถนนเรียบตั้งแต่กรุงเทพฯถึงแยกเข้าสนามชัยเขต ที่พนมสารคาม คุณ นพพร อัดตลอดในระดับ 140-180 กม./ชม. ตามสภาพการจราจรว่าอำนวยให้แค่ไหน ผมนั่งหลังในช่วงแรกเพื่อถ่ายภาพ คุณ ธนิต นั่งหน้าคู่กับ คุณ นพพร เพื่อช่วยจับเวลา เมื่อเทสต์ความรู้สึกในการขับไประยะหนึ่ง คุณ นพพร บอกว่าพวงมาลัยเร็วกว่าจะคุ้นเคยต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง และที่น่าจะปรับปรุงคือความนืดในความเร็วสูง ซึ่งน่าจะเพิ่มมากขึ้น แต่พวงมาลัยกลับเบาคงเดิม ก็อาจจะขัดใจผู้ใช้ที่ชอบขับเร็วมากๆที่ต้องการความหนึบหนับของพวงมาลัยในความเร็วสูง จากถนนเรียบคอนกรีต ไม่มีปัญหา รถเกาะถนนดีมากแม้เข้าโค้งระดับ 150-170 กม./ชม. บนถนนสุวินทวงศ์ ( โค้งกว้าง ) ไม่รู้สึกเสียวมากนัก ปกติผมไม่ชอบนั่งหลังเพราะไม่ไว้ใจคนขับ แต่สำหรับรายนี้ต้องยกเว้นเพราะเร็วแต่เซพตี้ ไม่ใช่เร็วแบบแลก หรือเร็วแบบประมาท ถ้าเป็นแบบหลังผมเห็นทีจะขอขับดีกว่า ลงลูกรังตามกลุ่ม ชมรมโฟล์กสยามที่ไปดูทางจัดแรลลี่ สไตล์เต่า ในวันเดียวกัน ปรากฏว่าในเกียร์ 4-5 รูดคลื่นได้สนิท พวงมาลัยไม่รู้สึกสะท้าน เพียงหยอดหลบหลุมให้คล่องก็สามารถเดินทางบนถนนลูกรังค่อนข้างเรียบได้ด้วยความเร็วระดับ 120-130 กม./ชม. ได้อย่างสบาย จากนั้นก็คล้อยบ่ายหลังจากแยกกับกลุ่มชมรมโฟล์กสยามแล้ว เรา 3 คน ก็ไปพัทยาด้วยอัตราเดินทางบนทางด่วนสายใหม่ เพื่อรีบไปล้างรถให้ทันก่อนตะวันจะลับขอบฟ้าที่พัทยา ภาพที่เห็นก็เป็นพยานได้ว่าเราไปกันด้วยความเร็วสูงแซงตลอด และจบเป้าหมายในเย็นวันนี้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยการบันทึกภาพใต้แสงอ่อนๆบนถนนเรียบชายหาดพัทยา
สรุปแล้วคุณ นพพร บอกว่าเป็นรถที่น่าใช้มาก เมื่อเทียบกับรถญี่ปุ่นที่โมดิฟายแล้วสบายๆ เบรก ABS ไว้ใจได้ แม้จะขัดใจกันบ้างเกี่ยวกับความเบาของพวงมาลัยในความเร็วสูงก็ตาม
จากนั้นเราสังสรรค์กันบนที่ทำงานของ คุณ อุกฤษฏ์ ในซอยโรงแรมทาวน์อินทาวน์ พัทยากลาง ถึง ตี 4 ของวันจันทร์ ผมทำหน้าที่ลองขับจาก พัทยา-บางประกง-แปดริ้ว-มีนบุรี ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที ในความเร็วระดับ 130 ขึ้นเป็นส่วนมาก บางช่วงถึง 170 กม./ชม. ระบบไฟส่องสว่างที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ชับเร็วในกลางคืนได้ และเบรกที่มีประสิทธิภาพสูง ABS 2 วงจรทำให้ผมมั่นใจว่า 306 XR 5 ประตู คันนี้จะกลับสู่ที่เก็บรถได้ทุกชิ้น ไม่มีอาการเครียด เพราะอีก 2 คน หลับตั้งแต่ได้ไม่กี่นาที ผมเหงา ไม่มีใครคุยด้วย ถ้า 306 XR ไม่ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสุขสนุกสนานในการขับขี่ ผมคงง่วงแค่ 2 ชั่วโมงบนโซฟา หลังจากจับอะไรไปพอสมควร ในคืนนั้นไม่ทำให้ผมง่วงนอนจนสว่างคาตา บ่าย 2 โมง วันจันทร์ที่ 10 ก.ค. 2538 ผมนำรถไปคืนที่เปอโยต์ ถนนสุรวงศ์ ปรากฏว่าเจอฝนเกือบตลอดเส้นทางจากบางกระปิถึงสุรวงศ์ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง คุณ ศิริพร เนตรดนัย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เปอโยต์ นั่งรออยู่กับเพื่อนๆหลังจากเลิกงานแล้วหลายนาที
ขณะฝนตกระบบปัดน้ำฝนต่อสู้กับสายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบเปิด-ปิด ทั้งใบปัดหน้า-หลัง อันเดียวกันอยู่ขวามือของแกนพวงมาลัย ทำให้ขับได้อย่างไม่ต้องใช้สายตา จ้องผ่านม่านฝนให้อารมณ์เสีย ระบบปัดน้ำฝนกระจกหน้ามีหลายสเต็ปตามความแรงของสายฝน เพียงกดลงด้านล่างก็จะปัดขึ้น 1 ครั้ง เพื่อไล่ละอองฝนยามสายฝนหยุดใหม่ๆ หรือดึงเข้าหาตัว กระจกจะมีระบบฉีดน้ำพร้อมๆกับใบปัดน้ำฝนจะทำงานไปเรื่อยๆ ถ้าปล่อยกลับที่เดิมใบปัดน้ำฝนจะปัดอีก 4 ครั้งจึงหยุดเอง เกือบ 3 ชั่วโมง บนถนนการจราจรก็ติดขัด พร้อมๆกับสายฝนหนาแน่น ผมทำความรู้จักกับ ระบบเสียงใน 306 XR พบว่าไม่เบา คลายเคลียดได้มากแม้ว่าจะไม่กระฮึ่มแต่ลำโพงทุกระดับเสียงก็ให้อรรถรส ในการฟังครบถ้วน เบาะนั่งสบาย ทั้งหน้า-หลัง ระบบควบคุมต่างๆ บนหน้าปัดไม่เว่อร์เกินเหตุ ทำให้ผมสรุปได้ว่า 306 XR 5 ประตูคันนี้ น่าใช้ แม้ว่าจะแพงไปหน่อย
ที่มาข้อมูล: หนังสือรถ carmagazine ปีที่ 16 ฉบับที่ 15/8-15/9/2538
ราคา ในขณะนั้น 306 XR ( M ) ราคา 683,000 บาท 306 XR ( A ) ราคา 728,000 บาท

