ผมเคยให้ข้อมูลที่ว่า ให้เปลี่ยนตาน้ำใต้เสื้อวาล์วน้ำ เป็นแบบทองเหลือง เพื่อป้องกันเครื่องยนต์พัง จากการผุของตาน้ำอันนี้ สักสามสี่ปีมาแล้วมั้ง สืบเนื่องมาจาก ผมได้ข้อมูลนี้ มาจากพวกช่างในศูนย์สุรวงค์ ที่เล่าให้ฟังว่า มันพังยังไง รถของผมเอง ซื้อตั้งแต่ป้ายแดงปี2001
ดูแลระบบน้ำหล่อเย็นเป็นปกติ เมื่อตอน160000กม. ครบรอบเปลี่ยนสายพานราวลิ้น ก็เปิดเสื้อวาล์วน้ำออกมาเพื่อจะเปลี่ยนตาน้ำตัวนี้
โชคดีมาก ที่เห็นมันผุซะจนเกือบจะทะลุอยู่แล้ว ปกติของตาน้ำในเครื่องยนต์ ทุกตัวจะหันเอาด้านนูนเข้าหาช่องน้ำ จะมีก็ไอ้ตัวนี้เพียงตัวเดียว ที่ดันต้องเอาด้านหลุมเว้า เผชิญกับน้ำแทน จึงทำให้มันผุได้ง่ายกว่า และอีกข้อคือ ตัวอื่นๆ ถ้ามันผุจนรั่ว น้ำหล่อเย็นจะไหลออกมาข้างนอกได้ อย่างมากก็แค่น้ำแห้ง แต่ไอ้ตัวนี้ น้ำที่ไหลออก มันดันไหลย้อนเข้าไปอยู่ในท่อร่วมไอดี เพราะมันไม่มีทางให้ไหลออกข้างนอกได้ น้ำที่ขังอยู่ในท่อไอดี จะถูกดูดเข้าห้องเผาไหม้ ถ้าปริมาณไม่มาก ก็จะพบว่า มันจะเกิดก็บกพร่องในการเผาไหม้ให้สังเกตได้
แต่ถ้ามีมาก แล้วถูกดูดเข้าไปเยอะ ลูกสูบจะอัดเอาน้ำทั้งก้อน ทำให้ก้านสูบงอได้ครับ เพราะน้ำ เป็นของเหลว มันไม่ยอมยุบตัวเวลาถูกอัด
ยังมีตาน้ำ ที่อยู่ที่ฝาสูบด้านบน ติดๆกับช่องหัวเทียน ที่เคยเจอว่ามันผุ แต่มักเกิดจาก การที่ปล่อยให้มีฝุ่นและความชื้นไปสะสมอยู่ในนั้นนานๆ และอีกตัวที่เคยเจอ คือ ตัวที่อยู่ตรงเฟืองราวลิ้น อันนี้ถอดยากหน่อย
การถอดเปลี่ยนตาน้ำใต้เสื้อวาล์วน้ำตัวนี้ ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก โดยถอดเอาเสื้อวาล์วน้ำออกมาก่อน ก็จะเห็นตาน้ำตัวนี้ได้แล้ว
ก็แค่เอาไขควงแบน หรือเหล็กส่ง ตีเข้าไปที่ขอบของมัน โดยตีเพียงด้านเดียว เพื่อให้มันพลิกตั้ง จะได้เอาคีมจับตรงขอบของมันแล้วดึงออกมาได้ แล้วก็เอาตัวใหม่ใส่เข้าไปแทน โดยต้องตีให้ตรงๆเข้าไป
ที่บอกว่าไม่ยากนัก แต่เวลาทำจริงๆ อาจจะเจอกับอุปสรรคบ้าง เช่น ตัวเสื้อวาล์วน้ำ มันเอาออกไม่ได้ เพราะติดเสา ก็ต้องคลายเอาเสาออกซะก่อน โดยการใช้น้อตตัวเมียอัดซ้อนกันสองตัว เพื่อให้แทนหัวน้อต จะได้จับมันคลายออกมาได้ และตรงที่ปลายท่อน้ำ อาจจะแน่นมาก ค่อยๆบิดแล้วดึง ระวังโอริงด้วย ถ้าให้ดี ก็ทำตอนเปลี่ยนสายพานราวลิ้น เปลี่ยนทั้งปั๊มน้ำ ท่อน้ำ และตาน้ำตัวนี้ไปพร้อมๆกันทีเดียว จะได้ระวังของเสียหายได้น้อยลง เพราะถึงมันจะเสีย เราก็เตรียมของใหม่ไว้เปลี่ยนอยู่แล้ว