vlovepeugeots.com - Please Ctrl+DBookmark Now!

vlovepeugeots Webboard


เครื่องร้อน
สำหรับผู้ที่ใช้ รถด้วยกันแล้ว ปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ร้อนจัด ดูจะเป็นที่หวาดวิตก หวั่นเกรงกันไม่น้อย อันที่จริงก็น่าที่จะหวั่นกลัวกัน เพราะปัญหาเครื่องร้อนเมื่อเกิดขึ้นแล้ว แก้ไขปัญหาไม่ได้ทันท่วงทีแล้ว ปัญหานี้จะทำให้ผู้ใช้รถ หนาวยะเยือก ได้ เมื่อต้องเข็นรถเข้าอู่ และถ้าไปเจอรเอาศูนย์บริการ หรือ อู่ซ่อมประเภทหิวโซเข้าแล้ว ก็ถึงกับกระเป๋าฉีกกันทีเดียวละ

จริง ๆ แล้ว อาการเครื่องร้อน ก็เป็นอาการที่ปกติ ที่สามารถจะเกิดขึ้นกับรถคันไหน เมื่อไรก็ได้ เช่นเดียวกับ อาการที่เกิดขึ้นในระบบอื่น ๆ ของตัวรถ โดยเฉพาะกับรถที่ขาดการดูแล บำรุงรักษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

รถยนต์ในปัจจุบัน เครื่องจะร้อนเร็วมากขึ้นหลังจากติด เครื่องยนต์ เพราะเครื่องยนต์ ต้องการเอาความร้อนนั้น ผ่านไอเสียไปกระตุ้นให้ตัวแปรสภาพไอเสีย (แคตตาไลติคคอนเวอร์เตอร์) ทำงาน เพราะ แร่ธาตุ ในตัวแปรสภาพไอเสียนั้น จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ด้วยใช้ความร้อนจากไอเสียเป็นตัวกระตุ้น แล้วเมื่อนั้น แร่ธาตุในตัวแปรสภาพไอเสีย จึงจะแปรสภาพแก๊สพิษ (คาร์บอนนอนอกไซด์, ไนตรัสออกไซด์ และไฮโดรคาร์บอน) ให้เป็นออกซิเจ คาร์บอน ไฮโดรเจน และไนโตรเจนได้มากที่สุด

นอกจากนั้น ไอเสียที่ก่อนจะเข้าไปยังตัวแปรสภาพไอเสีย จะต้องผ่านตัวดักจับ หรือ ตัววัดคุณภาพไอเสียที่ช่างเรียกกันว่า ออกซิเจนเซนเซอร์ หรือบางที่อาจจะเรียกว่า แลมด้า เซนเซอร์ ซึ่งเจ้าตัวนี้ จะดักวัดปริมาณไอเสีย แล้วส่งสัญญาณไปแปรค่าที่ชุดอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมเครื่องยนต์ เมื่อสมองคอมพิวเตอร์นี้อ่านออกมาแล้ว

ก็จะส่งคำสั่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบในการสร้างกำลังงาน เช่น สั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง สั่งจ่ายประกายไปในการจุดระเบิด สั่งจ่ายอากาศ (ไอดี) และรวมถึงช่วงเวลาของทั้งหมด ให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามภาวการณ์ของการใช้งานนั้น
ด้วยวิวัฒนาการของการผลิต ทั้งวัสดุที่ใช้ระบบควบคุม ระบบช่วยเหลือต่าง ๆ ในเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์ในปัจจุบัน สามารถที่จะทนทานต่อความร้อนที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น รถยนต์ในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้ว จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (กำลังงาน ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อัตราการสึกหรอ) อุณหภูมิของน้ำหล่อเย็น ควรจะต้องคงที่อยู่ที่ประมาณ 110 องศาเซลเซียส นั่นว่ากันตามทฤษฎี อีตานี้ มาตรวัดอุณหภูมิ หรือ เกจ์ความร้อนในรถยนต์ ถ้าเกจ์ชี้ขึ้นไปสูงกว่าครึ่งเมื่อใดแล้ว เป็นอันว่าผู้ขับนั่งไม่ติดแล้ว นึกอยู่แต่เพียงว่าเครื่องร้อน ๆ แต่จะว่าไปแล้ว ถ้าหากเมื่อใดที่ เกจ์ความร้อนสูง มากกว่าครึ่งแล้ว

ก็เป็นเรื่องที่ผิดปกติที่จะต้องทำการตรวจสอบ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โต วิตกจริตจนกลายไปเป็นเหยื่อให้กับช่าง หรือ ศูนย์ หรือ อู่ไร้จรรยาบรรณที่ถือโอกาสที่จะฟันเอาตามใจชอบ ครับ มาดูกันว่า เครื่องร้อนเกิดขึ้นได้อย่างไร ? เมื่อเครื่องยนต์จุดระเบิด ทำให้เกิดความร้อน แล้วความร้อนก็จะทำให้เกิดพลังงาน แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อนานเข้าอุณหภูมิก็จะเกิดสะสมมากขึ้น จนเกินความต้องการ และถ้าหาทางควบคุมไม่ได้ ก็จะทำความเสียหายให้กับชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ จึงจำต้องมี ระบบรายความร้อน

ซึ่งก็มีทั้งที่ระบายด้วยอากาศ และระบายด้วยน้ำ แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นการระบายด้วยน้ำที่เรียกกันว่า ระบบหล่อเย็น หรือ คูลลิ่งซิสเต็ม ในระบบนี้ ก็จะประกอบไปด้วย ปั๊มน้ำ ดูดเอาน้ำจากหม้อน้ำ แล้วส่งไปพาเอาความร้อนที่เกิดจากการทำงานของเครื่องยนต์ออกมา เพื่อที่จะให้หม้อน้ำเป็นตัวระบายความร้อนออกไปตามครีบระบาย โดยมีพัดลมเป็นตัวช่วยดูดอากาศจากภายนอก เข้าระบายความร้อนออกไปจากหม้อน้ำ แต่ก็มีช่างอวดรู้หลาย ๆ คนที่แก้ปัญหาเรื่องเครื่องร้อนไม่ได้ ก็เลยเอาหม้อน้ำไปขยายให้ใหญ่โต เพื่อที่จะได้จุน้ำมาก ๆ โดยลืมคิดไปว่า หม้อน้ำของรถยนต์ คือ ที่ระบายความร้อน ไม่ใช่ กระติกน้ำร้อน การทำงานในระบบระบายความร้อน หรือ ระบบหล่อเย็นก็มีเพียงเท่านี้ แต่การระบายความร้อนที่ดี ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เครื่องยนต์ดีไปด้วย

เครื่องยนต์จะดีได้ ก็ต้องมีอุณหภูมิของน้ำหล่อเย็นที่คงที่ จึงต้องมีวาล์วน้ำ หรือ เทอร์โมสตัท เข้ามาควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ นี่ก็เหมือนกัน ช่างแสนรู้บางคนบอกว่า บ้านเราเป็นเมืองร้อน ไม่ต้องใส่มันก็ได้ เครื่องจะได้ไม่ร้อน ในความเห็นของผมแล้ว ความผิดนี้สมควรตาย และท่านใดที่ใช้รถอยู่แล้วอู่ไหนที่แนะนำให้ ถอดวาล์วน้ำทิ้ง แล้วละก็ ขอบคุณผู้แนะนำ แล้วก็ขออนุญาตเข็นรถออกไปตายเอาดาบหน้าจะดีกว่า นั่นเป็นเรื่องของ ระบบรายความร้อน ในรถยนต์พูดกันแบบง่าย ๆ แต่รถยนต์ในปัจจุบัน มันไม่ง่ายอย่างนั้นแล้ว เพราะมีระบบปรับอากาศ หรือ ระบบแอร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ระบบทำความเย็น หรือ ระบบแอร์ในรถยนต์ ก็เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของรถยนต์ในปัจจุบัน ที่ทำให้เกิดปัญหาเครื่องร้อน

ระบบทำความเย็น ถ้าเอากันภาษาง่าย ๆ ก็คล้ายกับระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์นั่นแหละ แทนที่จะใช้น้ำเป็นตัวพาความร้อน ก็ใช้เป็นน้ำยาแอร์ เป็นตัวพาความร้อนในห้องโดยสารออกมาทิ้งข้างนอก โดยมี คอมเพรสเซอร์ เป็นตัวสร้างแรงดัน หรือ แรงเคลื่อนไหวของน้ำยาแอร์ โดยความร้อนที่นำออกมานี้ จะเอาไประบายทิ้งที่ คอนเด็นเซอร์ หรือ คอยล์ร้อน หรือ รังผึงแอร์ เช่นเดียวกับหม้อน้ำ และเช่นกัน จะมีพัดลมหนึ่ง หรือ สองตัว เป็นตัวดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาช่วยไล่ความร้อนออกไป ในรถยนต์ปัจจุบันของบ้านเรา ระบบระบายความร้อน และระบบทำความเย็นในห้องโดยสาร มีความเกี่ยวพันกันอย่างมาก


และจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องเครื่องร้อนได้ตลอดเวลา และผมขอขัดจังหวะย้อนกลับไปในอดีตอันไกลโพ้น เมื่อครั้งที่เป็นลูกจ้างฝรั่งอยู่ต่างแดน (ปัจจุบันในบ้านเกิดเมืองนอน ในสหัสวรรษใหม่กลายเป็นขี้ข้าฝรั่ง) ลูกค้าก็เป็นฝรั่ง และบังเอิญที่ผมมีภาษาฝรั่งเป็นภาษาที่สาม ภาษาที่สองเป็นภาษามือครับ การออกใบสั่งงาน ก็เลยต้องเป็นภาษาฝรั่ง คุยกับลูกค้าคนหนึ่งจนเมื่อยมือ ถึงจับใจความได้ว่า รถของเขามีปัญหาเรื่อง เครื่องร้อน
ก็ออกใบสั่งงาน เป็นภาษาฝรั่งเลยว่า Enging overheat ก็เขียนมันสั้น ๆ เท่านั้นแหละครับ

แล้วก็ส่งงานให้ช่างไปทำตามปกติ นายงานซึ่งเป็นฝรั่งออกตรวจงานตามปกติ ผ่านมาเจอเอาใบสั่งงานนั้นเข้า ก็ตื่นเต้น เรียกประชุมด่วนทันทีทันใด เพื่อค้นหาสาเหตุ สอบสวนทวนความอยู่พักหนึ่ง ฝรั่งสบทออกแล้วก็บอกว่า ไอ้อย่างนี้ เขาเรียกกันว่า High temperature (โว้ย) ระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์ มีน้ำ หม้อน้ำ ปั๊มน้ำ เป็นองค์ประกอบหลัก เช่นเดียวกับระบบทำความเย็น มีน้ำยาแอร์ คอนเดนเซอร์ และคอมเพรสเซอร์ เป็นตัวหลัก ตามปกติแล้ว ถ้ารถยนต์ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างดี องค์ประกอบข้างต้นนั้น มักจะไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเครื่องร้อน

และถ้าเกิดจากสาเหตุดังกล่าว ก็จะเป็นเรื่องที่จะวินิจฉัยได้ด้วยตาเป็นเบื้องต้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด จนน่ากลัว (เสียตังค์) มากจะเกิดจากองค์ประกอบรอง ๆ ลงไป เช่น พัดลมระบายความร้อน ทั้งของหม้อน้ำ และรังผึ้งแอร์ ไม่ทำงาน หรือ ทำงานไม่เต็มที่ จึงทำให้การระบายความร้อน เป็นไปไม่ได้ดี ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำไปพัดลมถึงไม่ทำงาน ทั่ว ๆ ไปแล้ว พัดลมระบายความร้อนในรถ ปัจจุบันจะทำงานด้วยไฟฟ้า

ก็จากระบบไฟฟ้าในรถยนต์นั่นแหละ พัดลมจะได้รับกระแสไฟฟ้า ก็จากสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิ จากสวิตช์แรงดันน้ำยาแอร์ โดยกระแสไฟที่ได้ จะมีตัวควบคุมอีกชั้นหนึ่ง คือ ฟิวส์ และ รีเลย์ ว่ากันง่าย ๆ อย่างนี้นะครับ ดังนั้น เมื่อพัดลมไม่ทำงาน อาจจะเป็นที่ฟิวส์ขาด รีเลย์เสีย พัดลมเสีย จึงทำให้การระบายความร้อนเป็นไปไม่ได้ดี เครื่องจึงร้อน ในส่วนตัวของผมแล้ว พบบ่อยมากที่ เครื่องร้อนเพราะฟิวส์ขาด และบางท่านก็อาจจะถูกเปิดฝาสูบ ใสฝาสูบ เปลี่ยนหม้อน้ำ ล้างหม้อน้ำ เพราะฟิวส์ขาด ถ้าท่านใดพบกับเหตุการณ์ดังว่า ก็ถือเสียว่า ขาติก่อนทำกรรมไว้มากกว่าทำบุญ ชาตินี้เลยต้องกลายเป็นเหยื่อให้กับเปรตที่ไม่จรรยาบรรณ แอร์ไม่เย็น ก็ทำให้เครื่องร้อนได้

แอร์ไม่เย็น อาจจะมาจากน้ำยาแอร์ไม่พอ จึงไม่เกิดแรงดันไปสั่งการให้สวิตช์ ส่งกระแสไฟไปยังพัดลมได้ หรือ คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน ไม่มีกานสร้างแรงดันในระบบ ครับ ก็ต้องว่ากันเป็นเรื่อง ๆ ไป ในการใช้งานทั่วไปของผู้ใช้รถในปัจจุบัน คงจะไม่มีใครปล่อยให้น้ำใน หม้อน้ำแห้ง หม้อน้ำรั่ว ปั๊มน้ำไม่ทำงาน สายพานปั๊มน้ำฉีกขาด หรือ หย่อนยาน เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะมองเห็นได้ด้วยตาตนเอง และแม้ว่าจะไม่ใช่ช่าง ก็สามารถที่จะรับรู้ได้ และอีกประการหนึ่ง ผู้ใช้รถทุกวันนี้ ส่วนมากจะขยันในการนำรถเข้าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และทุกครั้งที่นำรถไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง จะกำชับให้ช่างตรวจตรา และรายงานถึงสภาพของชิ้นส่วนดังกล่าวทุกครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นสำหรับช่าง และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย

ดังนั้น ปัญหาเรื่องเครื่องร้อนจากสาเหตุดังกล่าว จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่เครื่องร้อน ก็ยังเป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้รถ ซึ่งจากประสบการณ์ที่พบอยู่ทุกวัน เครื่องร้อนมักจะเกิดจากปัญหาที่ต่อเนื่อง มาจากระบบแอร์ในรถยนต์ น้ำยาแอร์ไม่พอ ก็จะทำให้เครื่องร้อนได้ ก็ต้องมาหาสาเหตุกันว่า น้ำยาแอร์มันหายไปไหน หายไปอย่างไร การเติมแต่เพียงน้ำยา เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รังผึ้งแอร์ โดยเฉพาะกับครีบระบายความร้อนสกปรก อุดตัน รวมถึงของหม้อน้ำด้วยก็เป็นสาเหตุที่จะทำให้การระบายความร้อนไม่ได้ดี แต่พอรถเริ่มใช้ความเร็ว ทุกอย่างก็จะเป็นปกติ อาการดังว่า เมื่อถึงมือผม ก็จะเป็นเพียงแค่ใช้น้ำฉีดล้าง หรือ ลมเป่า ไปที่รังผึ้งทั้งของหม้อน้ำ และของแอร์ โดยเฉพาะ กับด้านที่รังผึ้งทั้งสองประกบกันอยู่ ช่างทั่ว ๆ ไป

มักจะไม่คอยอยากจะแง้มออกมาทำความสะอาดให้ และที่แก้ไขไปทั้งหมดตามวิธีการดังว่า ก็ไม่เห็นมีรถคันใดตีกลับมาบ่นให้ฟังเลยว่า ไม่หาย (อาจจะหายไปเพราะเข็ดขยาดก็ได้เนาะ) วิธีการที่ผมทำอยู่นั้น ไม่ค่อยมีที่ไหนเขาทำกันหรอกครับ ไม่ใช่ว่าทำแล้วไม่หาย แต่ว่าทำแล้วไม่ได้ตังค์ครับ โธ่ คิดตังค์กันได้ไง แค่เอาลมพ่น ๆ เป่า ๆ ไป ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
โดยคุณ : บินลาเดน - [ 1 ต.ค. 2544 , 08:46:04 น. ]

ตอบ
แอร์เย็นมากก็ทำให้เครื่องร้อนได้เหมือนกัน
โดยคุณ : บูช [ 1 ต.ค. 2544 , 08:52:25 น.]

ตอบ
ขอบคุณครับสำหรับความรู้เรื่องหม้อนำ
โดยคุณ : นัน [ 3 ต.ค. 2544 , 18:29:36 น.]

ร่วมเสนอแนะความคิดเห็น....
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว
อย่ากดยกเลิกกลางคัน อันจะเป็นเหตุให้ตัวเลขกระทู้ไม่ตรงได้ครับ 
จาก : *
email :
icq :
Username :
Password : สมัครสมาชิก
รูปภาพ :
ได้เฉพาะสมาชิกเท่านั้นครับ(ไม่เกิน 50K)

รายละเอียด
*
*

กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว
อย่ากดยกเลิกกลางคัน อันจะเป็นเหตุให้ตัวเลขกระทู้ไม่ตรงได้ครับ